สพฐ.ฟันธงปี' 54 เด็ก ป.6, ม.3, ม.6 ทุกโรงต้องได้คะแนนโอเน็ตไทย-เลข ไม่น้อยกว่า 40%

สพฐ.กำหนด ปีการศึกษา 54 นร.ป.6 ม.3 ม.6 ทุก ร.ร.ต้องได้คะแนนโอเน็ตภาษาไทย และคณิตศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 40% “ชินภัทร” รับเกณฑ์โหด แต่กำหนดต่ำกว่านี้ไม่ได้ เผย ควรกำหนดที่ 50% แต่ไกลเกินฝันต้องมองความเป็นไปได้และท้าทาย พร้อมนำผลไปเชื่อมโยงต่อการประเมินความดีความชอบของผู้บริหารหรือครู ชี้ เห็นด้วยในหลักการที่นำโอเน็ตมีผลในการเลื่อนชั้น แต่ขอรอดูความเสถียร ความเชื่อมั่นหากปีนี้ สทศ.พิสูจน์ได้ปีหน้าอาจจะพิจารณานำมาใช้ เล็งเสนอสัดส่วนรับ นร.ม.1, ม.4 ใช้คะแนนสอบคัดเลือก GPA และโอเน็ต ให้ กพฐ.พิจารณา
       
       นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดค่าเป้า หมายการใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยในปีการศึกษา 2554 สพฐ.กำหนดให้นักเรียนปลายช่วงชั้นทั้ง 3 ช่วงชั้น ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ม.6 ของทุกโรงเรียนต้องได้คะแนนโอเน็ตในวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 40% ทั้งนี้ ที่เลือก 2 วิชานี้ เพราะนับเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ทุกสาขาเป็นวิชาที่จำเป็นที่สุด ซึ่งจากนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียนไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้น

       “ยอมรับว่า อาจจะโหดเกินไปแต่ถือว่า สพฐ.จะกำหนดต่ำกว่านี้ไม่ได้ ซึ่งตามจริงแล้วควรกำหนดขั้นต่ำที่ 50% แต่ยอมรับว่า เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม อีกทั้งการกำหนดเป้าหมายควรต้องมีความท้าทายและความเป็นไปได้ด้วย ดังนั้น จึงกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 40% อย่างไรก็ตาม สพท.ต้องไปจัดทำแผนเร่งรัดคุณภาพ ซึ่งจากการติดตามเขตพื้นที่ฯที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือคะแนนโอเน็ตสูง ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ปัจจัยของความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารทั้งระดับเขตพื้นที่ฯ และระดับโรงเรียนที่จริงจังกับเรื่องนี้ ทั้งการเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน มีการจัดทำคลังข้อสอบให้โรงเรียนนำไปใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของสถาบันทดสอบ ทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และมีการนิเทศก์แบบ 100% คือ เขตพื้นที่ฯมีข้อมูลของโรงเรียนแต่ละแห่งว่ามีคะแนนผลสัมฤทธิ์อย่างไร จะรู้ว่าจุดไหนที่ต้องไปเร่งรัด” นายชินภัทร กล่าว
       
       เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า เมื่อ สพฐ.ประกาศเกณฑ์นี้ออกไปทำให้เขตพื้นที่ฯมีค่าเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับ เคลื่อน และจะได้ยกระดับโรงเรียนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขึ้นมาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 40% ขณะเดียวกัน โรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์เท่ากับค่าเฉลี่ย หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย จะต้องดูฐานการพัฒนาของตนเองไม่น้อยกว่า 4% ถือว่าต้องแข่งกับตัวเอง อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ดังกล่าวจะผูกโยงกับความรับผิดชอบทุกฝ่ายถ้าไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ต้องไปวิเคราะห์ว่าอะไรคือคำอธิบายของความไม่สำเร็จ ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริหาร หรือครูหากทำได้ จะเชื่อมโยงกับระบบการประเมินความดีความชอบประจำปี เชื่อมโยงกับการเลื่อนวิทยฐานะ แต่หากทำไม่ได้จะมีผลต่อการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี และการเลื่อนวิทยฐานะ หรือต่อไปหากจะมีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ อาจต้องคิดไปถึงขั้นนี้ด้วยว่าหากผลคะแนนโอเน็ตไม่พัฒนาขึ้นก็อาจจะให้มีผล กระทบด้วย
       
       “สำหรับการใช้คะแนนโอเน็ตมีผลต่อการ เลื่อนชั้นนั้น ในหลักการ สพฐ.เห็นด้วย แต่ที่ผ่านการเลื่อนชั้นยังใช้ข้อสอบของโรงเรียนซึ่งยังไม่มีหลักประกัน เรื่องของคุณภาพดังนั้นการใช้โอเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งน่าจะมีความเหมาะสม แต่จะนำมาใช้เมื่อไหร่และในสัดส่วนเท่าไหร่ขอดูการประเมินโอเน็ตปีนี้ก่อน ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าคะแนนโอเน็ตมีความเสถียร ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากผู้เรียนและผู้ปกครอง ถ้าปีนี้พิสูจน์ได้ปีหน้า สพฐ.ยินดีจะนำมาใช้แต่เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ต้องว่ากันอีกที ส่วนนโยบายการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 โดยใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบ นั้น สพฐ.จะนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งจะกำหนดนโยบายให้โรงเรียนพิจารณาการรับนักเรียน 3 ส่วน คือ คะแนนสอบคัดเลือกของโรงเรียน คะแนนเฉลี่ยสะสมรายวิชา หรือ GPA และคะแนนสอบโอเน็ตไม่น้อยกว่า 20%” นายชินภัทร กล่าว